E-Portfolio Subject to the Science Experience Management for Early Childhood Semester 1/2557

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558



สรุป  บทความ

  สื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนพัฒนาเด็กได้มากกว่าที่คิด
  โดย: ดร. สิทธิพร เอี่ยมเสน     รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

       ในตอนวัยเด็ก นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียน และช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ แล้ว พวกเราเด็กๆ ก็มักจะมีเวลาว่างมากเพียงพอที่จะสำรวจธรรมชาติที่อยู่รอบๆ บ้าน หรือบริเวณหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ทุ่งหญ้า ทุ่งนา ป่าหญ้าคา และ อื่นๆ เราสนุกสนานกับการที่ได้ปีนป่ายต้นไม้ใหญ่ นั่งเล่นอยู่บนต้นไม้นั้นเป็นเวลานานๆ ได้เห็นความเป็นอยู่ของเหล่านกใหญ่น้อยทั้งหลาย ที่อาศัยกิ่งก้านสาขาของไม้ใหญ่นี้เป็นที่กำบังจากภัยต่างๆ บ้างก็สร้างรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่นี้ หลายครั้งที่พวกเราก็แกล้งมัน พอพวกเราส่งเสียงดัง หรือขว้างปาวัตถุเข้าไปใส่ต้นไม้ ฝูงนกก็แตกฮือบินหนีไปคนละทิศคนละทางด้วยความตกใจ แต่พวกเรากลับหัวเราะอย่างสนุกสนาน บางครั้งเราก็ปีนต้นไม้เพื่อที่จะไปให้ถึงรังของนก เราอยากจะเห็นบ้านที่อยู่ของนก อยากจะเห็นไข่ หรือลูกเล็กๆ ของมัน ในขณะที่เราใกล้จะถึง เราจะได้ยินเสียงพ่อ แม่ของลูกนกส่งเสียงร้องอย่างดัง ราวกับจะบอกให้เรารู้ว่า อย่าเข้าใกล้หรือทำอันตรายสิ่งที่เขารักและห่วงแหนมากที่สุด 

สิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้ประโยชน์อย่างไรกับพัฒนาการของเด็ก

         ธรรมชาติล้อมรอบตัวเด็กนั้น จัดได้ว่าเป็นการขยายห้องเรียนให้กับนักเรียนของเรา นักเรียนจะได้มีโอกาสเรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสในทุกๆ ด้าน และครอบคลุมทุกๆ แขนงของหลักสูตร ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเด็ก ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ล้วนเป็นบทเรียนและแบบฝึกหัดที่มีประโยชน์โดยตรงต่อทั้งตัวเด็ก และครูผู้สอน  เด็กนักเรียนในระดับปฐมวัยสามารถใช้เวลานอกห้องเรียนในการเรียนรู้ธรรมชาติในโรงเรียนและชุมชน ได้ถึง ๑ ใน ๔ ของเวลาที่ต้องใช้ที่โรงเรียน นอกจากนักเรียนจะได้ความรู้จากหลากหลายกิจกรรมที่ครูสามารถให้นักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาให้นักเรียนมีความรู้สึกรัก รับผิดชอบและเป็นเจ้าของธรรมชาตินั้นๆ เป็นการพัฒนาในระดับปัจเจกบุคคล ที่มีผลต่อการพัฒนาในระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับโลก ต่อไป และยังส่งผลในเรื่องสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนอีกด้วย เด็กได้พัฒนาและเรียนรู้ทักษะเพื่อการดำรงชีพของตนเองไปตลอดชีวิต (Life-Long Skills) เช่น การปลูกและทำนุบำรุงรักษาต้นไม้ การปลูกดอกไม้ ผัก และผลไม้ต่าง ๆ เด็กได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม ใช้ภาษาที่เหมาะสมในการสื่อสารกับสมาชิกในกลุ่ม พัฒนาความเชื่อมั่น และความศรัทธาในตนเอง

เกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ๆ ในทุกวันนี้

        ในอดีตเด็กๆ เคยได้รับความสุขสนุกสนานกับการที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับธรรมชาติมากกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินบนทางเดินเท้า ถนนหนทาง พื้นที่ว่าง สวนสาธารณะ ทุ่งนา ป่าเขา ลำธาร พวกเขาเคยได้สำรวจ เคยเล่น และสัมผัสกับโลกธรรมชาติ โดยปราศจากข้อห้ามหรือการตรวจสอบใดๆ หรือจะมีบ้างก็เพียงเล็กน้อย แต่เด็กๆ ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย โดยเฉพาะเด็กๆ ในชุมชนเมือง การเล่นกับธรรมชาติอย่างเสรี จะมีแต่ข้อห้าม หรือมีโอกาสก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขอบเขตการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจถูกจำกัดและลดลง

เราจะช่วยเด็กกันได้อย่างไร

        เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราก็ควรที่จะดำเนินการใดๆ ที่ จะก่อให้เกิดผลดังกล่าว ในต่างประเทศ มีองค์กรเครือข่ายที่ใช้ชื่อว่า The Children & Nature Network (C&NN) ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นสื่อกลางระหว่างเด็กกับธรรมชาติ ให้ข้อมูล ข่าวสารและรายงานผลการวิจัย เพื่อกระตุ้นและสนับสนุน พร้อมทั้งเป็นเครือข่าย ให้ประชาชนและองค์กรต่างๆ พัฒนากิจกรรมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังได้ทำงานร่วมกับนักวิจัย นักการศึกษา และองค์กรอื่นๆ ที่อุทิศตนเพื่อให้เด็กมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ที่มา : http://www.la-orutis.dusit.ac.th/research6.php 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น