สรุปงานวิจัย เรื่องการพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะ
งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะ
ผู้วิจัย เอราวรรณ ศรีจักร
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ การศึกษาระดับ ... มหาบัณฑิต
ความสำคัญและความเป็นมาของงานวิจัย
ประเด็นที่1 วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต
ประเด็นที่2 วิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งความรู้ (Knowledge basedsociety) คนทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์
ประเด็นที่3 การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ซึ่งเรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์ได้ โดยครูใช้ประสบการณ์การคิดและปฏิบัติ
ประเด็นที่4 เด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 4 - 5 ปีมีลักษณะเฉพาะตัว คือ มีความเชื่อว่า ทุกอย่างมีชีวิต(animism) มีความรู้สึกและเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกมีจุดมุ่งหมาย (purposivism) และชอบตั้งคำถามโดยใช้คำว่า “ทำไม”
ประเด็นที่5 การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยนั้นจะมาจากการใช้ประสาทสัมผัส (Sensory Motor) เป็นหลักการเรียนรู้(Piaget. 1969) สื่อสำหรับเด็กในการเรียนรู้มีหลายชนิด สื่อแต่ละชนิดสามารถปรับใช้ได้กับหลายจุดประสงค์
ประเด็นที่6 แบบฝึกทักษะเป็นเอกสารที่สร้างขึ้นเพื่อฝึกให้เด็กได้เตรียมความพร้อมด้านสติปัญญาและทักษะต่างๆ มีรูปแบบ วิธีการ ที่มีแบบแผน กฎเกณฑ์ โดยมีคำสั่งของแต่ละกิจกรรมตามเนื้อหาจุดประสงค์ของแบบฝึกแต่ละเล่ม ซึ่งเป็นแบบฝึกเกี่ยวกับภาพ ครูจะใช้ประกอบขณะเด็กทำกิจกรรมหรือตอนสรุปการเรียน
ความมุ่งหมายของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาระดับทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยโดยรวมและจำแนกรายทักษะ หลังการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะ
2. เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยใช้เป็นแนวทางในการใช้แบบฝึกทักษะประกอบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการ วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย และเป็นแนวทางสำหรับครูในการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สื่อที่เป็นแบบฝึกทักษะหรือสื่ออื่นๆ แก่เด็กปฐมวัยให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบเขตของการศึกษาวิจัย
ตัวแปรในการวิจัย
ตัวเเปรอิสระ/ตัวเเปรต้น คือ กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะวิทยาศาสตร์
ตัวเเปรตาม/ตัวจัดกระทำ ได้เเก่ ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ 4 ด้าน คือ
1. สังเกต
2. จำเเนกประเภท
3. สื่อสาร
4. การลงความเห็น
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กนักเรียนชาย - หญิง ที่มีอายุระหว่าง 4 - 5 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ระดับอนุบาลศึกษา
2. การพัฒนา หมายถึง ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งประเมินโดยแบบประเมินที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
3.ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย หมายถึง ความสามารถของเด็กปฐมวัยในการใช้ความคิด การค้นหาความรู้เพื่อหาคำตอบที่เป็นองค์ความรู้ได้ ในการวิจัยนี้จำแนกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
3.1 การสังเกต หมายถึง ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น และผิวกาย เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือเหตุการณ์แล้วเด็กสามารถบอกลักษณะหรือความแตกต่างของสิ่งนั้นได้
3.2 การจำแนกประเภท หมายถึง ความสามารถในการแบ่งประเภทสิ่งของโดยมีเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกประเภทอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความเหมือน ความแตกต่างและความสัมพันธ์
3.3 การสื่อสาร หมายถึง ความสามารถในการบอกข้อความหรือเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ค้นพบจากการสังเกต การทดลอง เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้อง
3.4 การลงความเห็น หมายถึง ความสามารถในการอธิบายหรือสรุปความเห็นสิ่งที่ค้นพบหรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหรือที่ได้จากประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับการใช้เหตุผล
4. กิจกรรมการเรียนรู้ หมายถึง งานการเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นเพื่อให้เด็กได้ปฏิบัติการการเรียนรู้โดยจัดลำดับสาระตามชุดแบบฝึกทักษะวิทยาศาสตร์ ของรศ.ดร.กุลยา ตันติผลาชีวะ ที่นำมาใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเน้นให้เด็กได้ลงมือกระทำ ได้รับประโยชน์จริง ดังนี้
ขั้นนำ เป็นขั้นการเตรียมเด็กเข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วยกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเรื่องที่จะเรียน
ขั้นสอน แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 จัดกิจกรรมให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์ของเรื่องที่เรียน และตอนที่ 2 ทำชุดแบบฝึกทักษะตามมโนทัศน์ของเรื่องที่เรียน
ขั้นสรุป เด็กร่วมกันสรุปความรู้เกี่ยวกับทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่เด็กได้รับจากการเรียนเรื่องนั้นๆ
5. ชุดแบบฝึกทักษะ หมายถึง แบบฝึกทักษะวิทยาศาสตร์โดยเน้นการใช้สมองเป็นฐานการเรียนรู้ (Brain - Based Learning) สำหรับเด็กปฐมวัยที่ออกแบบโดย ดร.กุลยา ตันติผลาชีวะจำนวน 4 เรื่อง คือ การสังเกต พืช สัตว์ และโลกของเรา
สมมุติฐานการวิจัย
เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะ มีการพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังการทดลองแตกต่างกัน
ประชากร ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือนักเรียนชาย - หญิงที่มีอายุระหว่าง 4-5 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้น อนุบาลศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนอนุบาลธนินทรเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่การศึกษา 2
วิธีดำเนินการวิจัย
การเลือกกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชาย - หญิงที่มีอายุระหว่าง 4 - 5 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้น อนุบาลศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนอนุบาลธนินทรเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่การศึกษา 2 ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย โดยการจับสลากเลือกจำนวน 1 ห้องเรียน จากจำนวน 2 ห้องเรียน และผู้วิจัยสุ่มนักเรียนเข้ากลุ่มทดลองจำนวน 15 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1.ชุดแบบฝึกทักษะวิทยาศาสตร์ โดยใช้สมองเป็นฐานการเรียนรู้ (Brain -
Based Learning) ของ รศ.ดร.กุลยา ตันติผลาชีวะ
2. แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาระตามชุดแบบฝึกทักษะ
3. แบบประเมินทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์
การดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 เป็นเวลา 10สัปดาห์ โดยแบ่งเป็นสัปดาห์ในการประเมินทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 วัน คือ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ และวันศุกร์ ในช่วงเวลา 08.00 - 11.30 น. ในการประเมินทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์สัปดาห์ที่ 1 และสัปดาห์ที่ 10 ระยะเวลาในการประเมินจากเด็กจำนวน 15 คน ใช้เวลาในการทำแบบประเมินคนละ 5 ข้อ ข้อละ 2 นาที รวม10 นาที ต่อเด็ก 1 คน การประเมินในแต่ละวันให้เด็กทำตามการจำแนกรายด้านดังนี้
วันจันทร์ ชุดที่ 1 การสังเกต 5 ข้อ
วันอังคาร ชุดที่ 2 การจำแนกประเภท 5 ข้อ
วันพุธ ชุดที่ 3 การสื่อสาร 5 ข้อ
วันศุกร์ ชุดที่ 4 การลงความเห็น 5 ข้อ
สำหรับระยะเวลาในการทดลองใช้ 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน คือวันจันทร์วันพุธ และวันศุกร์ วันละ 30 นาที รวม 24 ครั้ง ทำการทดลองในช่วงเวลา 09.00 - 09.30 น.
โดยมีขั้น ตอนดังนี้
1.จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อประเมินทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์
2.ผู้วิจัยทำการประเมินทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย (Pretest)ก่อนการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง เป็นเวลา 4 วัน และบันทึกผลของข้อมูลในแต่ละข้อของเด็กแต่ละคนเพื่อนำมาตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์และเก็บเป็นคะแนนข้อมูลพื้นฐานชุดที่ 1
3.ผู้วิจัยดำเนินการทดลองในกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะ ในระยะเวลาระหว่าง 09.00 - 09.30 น. ของวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2550 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2550
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. หาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
2. วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลัง การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะ เพื่อศึกษาการพัฒนาทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยทั้งภาพรวมและจำแนกรายทักษะ โดยใช้ค่าแจกแจง t แบบ Dependent Samples
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
1. หาความเที่ยงตรงของแบบประเมินโดยใช้ดัชนีความสอดคล้องระหว่างจุดประสงค์กับพฤติกรรม (พวงรัตน์ ทวีรัตน์. 2543 : 117) ดังนี้
2. หาค่าความยากง่าย (Difficulty) ของแบบประเมินทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็ก
3. การหาค่าอำนาจจำแนกโดยใช้ค่าสหสัมพันธ์แบบพอยท์ - ไบซีเรียล (Point biserial correlation)
4. หาค่าความเชื่อมัน่ ของแบบประเมินทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของด็กปฐมวัย โดยใช้สูตร KR - 20 ของคูเดอร์ - ริชาร์ดสัน (Kuder - Richardson)
สรุปผลการวิจัย
1. พัฒนาการทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยโดยรวม หลังการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะอยู่ในระดับดีมากและจำแนกรายทักษะ อยู่ในระดับดีมาก 3 ทักษะคือ ทักษะการสังเกต ทักษะการสื่อสาร และทักษะการลงความเห็น และอยู่ในระดับดี 1 ทักษะ คือทักษะการจำแนกประเภท
2. พัฒนาการทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย หลังการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะสูงขึ้นกว่าก่อนการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ประกอบชุดแบบฝึกทักษะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ข้อเสนอแนะ
วิธีการเลือกชุดแบบฝึกทักษะ ควรพิจารณารูปภาพประกอบที่ดูเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเป็นภาพขนาดใหญ่ และภาพในหน้าด้านซ้ายกับด้านขวาของชุดแบบฝึกทักษะ ไม่ควรเป็นภาพเดียวกัน ซึ่งมีคำชี้แจงหรือคำสั่งที่แตกต่างกัน เพราะจะทำให้เด็กสับสน เนื่องจากเด็กวัย 4 - 5 ปีบางคน ยังไม่รู้จักตัวเลขที่ระบุอยู่บนหน้ากระดาษของแบบฝึกทักษะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น